คณะสงฆ์ธรรมยุต จังหวัดชุมพร
วัดโพธิการาม  ตำบลนาทุ่ง  อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร 86000
ประวัติกำเนิดคณะธรรมยุต
ทรงฟื้นฟูการศึกษาฝ่ายวิปัสสนาธุระ

     การคณะสงฆ์ไทยแต่โบราณมา จัดการปกครองออกเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายคามวาสี มีหน้าที่เอาธุระ ศึกษาเล่าเรียนพระคัมภีร์ เรียกว่า ฝ่ายคันถธุระ มีพระสังฆราชา หรือพระสังฆราชเป็นประมุขปกครองดูแล และมีพระสังฆนายกรองลงมาเป็นผู้ช่วย ฝ่ายอรัญวาสี มีหน้าที่เอาธุระศึกษาอบรมทางสมถะและวิปัสสนา
เรียกว่า ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีพระสังฆราชา หรือพระสังฆราช เป็นประมุขปกครองดูแล และมีพระ สังฆนายกรองลงมาเป็นผู้ช่วยเช่นเดียวกัน แต่ละฝ่ายต่างปกครองดูแลคณะของตนโดยไม่ขึ้นแก่กัน
     แบบแผนการคณะสงฆ์ของไทยได้ดําเนินมาในลักษณะนี้จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จึงได้ มีการเปลี่ยนแปลง คือมีพระสังฆราชา หรือพระสังฆราช ซึ่งต่อมาเรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช แต่ พระองค์ เดียวเป็นประมุขของสังฆมณฑล แต่ให้มีพระสังฆนายกฝ่ายคามวาสี และพระสังฆนายก ฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งต่อมาเรียกว่า ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย เป็นผู้ช่วยสมเด็จพระสังฆราช ปกครองดูแลใน ฝ่ายนั้น ๆ แบบแผนการคณะสงฆ์ลักษณะนี้ได้ดําเนินสืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการ เปลี่ยนแปลง
     ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนแปลงการคณะสงฆ์จากเดิมที่จัดเป็นฝ่ายคามวาสีและ ฝ่ายอรัญวาสี เป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ โดยให้แต่ละฝ่ายปกครองดูแลทั้งพระสงฆ์สามเณรคามวาสีและ อรัญวาสี ดังปรากฏในสร้อยนามสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ และเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ว่า “มหาอุดรคณฤสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี” และ “มหาทักษิณคณฤสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี” ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์สามเณรฝ่ายอรัญวาสีมีน้อยลงจนไม่พอที่จะจัดการปกครองเป็นฝ่ายหนึ่ง ต่างหากเช่นแต่ก่อน แต่ยังคงให้มีเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสีไว้โดยไม่มีวัดในปกครอง เพราะมีหน้าที่ต้อง ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
     มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ขึ้นแล้ว ตําแหน่งเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสีก็เป็นอันยกเลิกไป เพราะไม่มีวัดฝ่ายอรัญวาสีขึ้นอยู่ในปกครอง
     จากลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ของไทยแต่โบราณมาจะเห็นได้ว่า วิปัสสนาธุระ ถือว่าเป็น หน้าที่ที่พระสงฆ์สามเณรจะต้องศึกษาอบรมกันอย่างจริงจัง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงอุปถัมภ์บํารุง อย่างเต็มที่ ถึงกับทรงตั้งพระสังฆราชาและพระสังฆนายกปกครองดูแลกันเองอย่างเป็นเอกเทศ แต่การศึกษาอบรมฝ่ายวิปัสสนาธุระค่อยจืดจางลงตามลําดับ พระสงฆ์สามเณรฝ่ายอรัญวาสีก็ลดน้อยลงตามกาล วัดฝ่ายอรัญวาสีก็ลดน้อยลงจนไม่พอที่จะจัดการปกครองเป็นฝ่ายหนึ่งหรือคณะหนึ่งต่างหากจากฝ่ายคามวาสี ที่สุดฝ่ายอรัญวาสีหรือคณะอรัญวาสีก็เป็นอันยกเลิกไป พระสงฆ์สามเณรฝ่ายอรัญวาสีที่ยังคงพอมีอยู่จึง รวมอยู่ในปกครองของฝ่ายคามวาสีสืบมาจนปัจจุบัน เป็นอันว่าธุระหรือหน้าที่ประการหนึ่งของพระสงฆ์ สามเณร คือวิปัสสนาธุระได้ถูกลืมเลือนไปหรือได้รับการเอาใจใส่น้อยลงตามลําดับจนเกือบจะไม่เป็นที่ รู้จักของคนทั่วไป
     ในตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูการศึกษาฝ่ายวิปัสสนาธุระให้เข้มแข็งขึ้นครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระกรุณาโปรดให้อาราธนาพระเถราจารย์
ฝ่ายวิปัสสนาธุระทั้งในกรุงและหัวเมืองเข้ามาตั้งเป็นพระอาจารย์บอกกรรมฐาน แล้วส่งไปประจําอยู่ตามวัด ต่าง ๆ ทั้งในกรุงและหัวเมือง เพื่อสั่งสอนพระกรรมฐานแก่พระสงฆ์สามเณรและอุบาสกอุบาสิกา แต่
พระอาจารย์กรรมฐานที่ทรงพระกรุณาโปรดให้อาราธนาทั้งจากในกรุงและจากปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือครั้งนั้น ก็ได้เพียง ๗๖ รูป ฉะนั้น การฟื้นฟูการศึกษาฝ่ายวิปัสสนาธุระเมื่อครั้งนั้น จึงคงเป็นไปไม่ได้ทั่วถึง และเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๒ แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการดําเนินการอย่างใดต่อไปอีก
     จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า การศึกษาของภิกษุสามเณรฝ่ายคันถธุระ เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมาก เพราะได้รับการส่งเสริมและเอาใจใส่ดูแลด้วยดีตลอดมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนการศึกษาฝ่ายวิปัสสนาธุระ กลับซบเซาลงไปตามลําดับ เพราะขาดการส่งเสริมและเอาใจใส่อย่างจริงจัง
     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยเมื่อเสด็จประทับ ณ วัดสมอรายนั้น นอกจากจะทรง กวดขันให้ภิกษุสามเณรที่ถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียนฝ่ายคันถธุระหรือพระปริยัติธรรมอย่างจริงจังแล้ว ยังทรงแนะนําในฝ่ายวิปัสสนาธุระ ทั้งทางสมถะและทางวิปัสสนา ให้ภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์หลวงทั้ง หลายได้ศึกษาและปฏิบัติ ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาแสดงแนวทางการศึกษา อบรมทั้งทางสมถะและวิปัสสนาไว้หลายเรื่อง เช่น วิปัสสนาวิธี วิปัสสนากรรมฐาน อารักขกรรมฐานสี่ พรหมจริยกถา เป็นต้น แม้พระองค์เองก็ทรงนําในทางปฏิบัติดังเป็นที่ทราบกันว่า เมื่อถึงหน้าแล้งจะทรง นําพระศิษย์หลวงออกจาริกไปตามป่าเขาในหัวเมืองต่าง ๆ ในมณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑล อยุธยา มณฑลนครสวรรค์ ตลอดไปจนถึงมณฑลพิษณุโลก เพื่อบูชาปูชนียสถานสําคัญและแสวงหาที่ วิเวกเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน เป็นประจําแทบทุกปี เป็นการวางแบบอย่างให้ภิกษุสามเณรใน คณะธรรมยุตถือเป็นแนวทางการศึกษาและปฏิบัติพระศาสนาสืบมา ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏว่า พระสงฆ์ ธรรมยุตในขั้นต้นมักเป็นผู้เอาธุระทั้งสองอย่างเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ
     ในฤดูฝน อยู่จําพรรษาตามอาราม ศึกษาเล่าเรียนพระคัมภีร์ เป็นการเอาธุระฝ่ายคันถธุระ เมื่อถึงฤดูแล้ง มักจาริกไปตามป่าเขาเพื่อแสวงหาที่วิเวกเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน เอาธุระฝ่ายวิปัสสนาธุระ
     พระเถรานุเถระธรรมยุตในยุคแรกจึงมักเป็นที่ปรากฏต่อสายตาสาธุชนว่าเป็นพระกรรมฐาน แม้พระเถระผู้ใหญ่จํานวนมากก็ปรากฏชื่อเสียงเกียรติคุณในทางวิปัสสนาธุระ เช่น
- พระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร ป.๙) วัดบรมนิวาส
- สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทธสิริ ป.๙) วัดโสมนัสวิหาร
- สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ ป.๙) วัดปทุมคงคา
- สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว จนฺทสิริ ป.๔) วัดราชาธิวาส
- พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท ป.๔) วัดบรมนิวาส
- พระครูสิริปัญญามุนี (อ่อน เทวนิโก) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดปราจีนบุรี
- พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นต้น
     เพราะเหตุนี้ จึงได้ถือเป็นประเพณีนิยมในคณะธรรมยุตว่า พระเถรานุเถระที่เป็นผู้ปกครองหมู่ คณะควรเป็นผู้เอาใจใส่ในวิปัสสนาธุระ คือปฏิบัติกรรมฐานด้วย แม้จะสํานักอยู่ในอารามที่เป็นตามวาสี ทั้งนี้ เพื่อจักได้เป็นแบบอย่างแก่ภิกษุสามเณรในปกครองสืบไป
     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ จึงได้ชื่อว่าทรงเป็นผู้ฟื้นฟูการ ปฏิบัติกรรมฐานให้เป็นที่นิยมในหมู่ภิกษุสามเณรขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และยังผลให้เป็นที่นิยมแพร่หลายตลอด ไปถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไปในเวลาต่อมาด้วย
     นอกจากนี้ การที่เสด็จจาริกไปในหัวเมืองต่าง ๆ ดังกล่าว ยังเป็นเหตุให้รู้จักภูมิสถานของบ้าน เมืองในหัวเมืองนั้น ๆ ตลอดถึงรู้จักความเป็นไปในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้ทรงค้นพบโบราณ วัตถุสถานสําคัญของชาติอีกหลายแห่ง เช่น ทรงค้นพบพระปฐมเจดีย์ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคําแหง พระ แท่นมนังคศิลา เป็นต้น ซึ่งได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาติเป็น อย่างมาก ทั้งเป็นแนวทางให้อนุชนได้ศึกษาค้นคว้าในเวลาต่อมาด้วย

 
มีเนื้อหาอีก กดหน้าถัดไป